เดิมอำเภอเสลภูมิมีชื่อว่า “บ้านเขาดินบึงโดน” เข้าใจว่าจะเรียกตามชื่อบึงใหญ่แห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “บึงโดน” ซึ่งติดอยู่กับโคกภูดิน โดยมีหลวงจุมพลภักดี เป็น นายกองปกครอง ต่อมาได้มีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านเขาดินบึงโดน เป็นเมืองเสลภูมินิคม เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๐ ปีเถาะ (พ.ศ. ๒๔๒๒) และได้พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งหลวงจุมพลภักดี เป็น“พระนิคมบริรักษ์” เจ้าเมืองเสลภูมินิคม
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าตั้งมณฑลร้อยเอ็ดขึ้น เมืองเสลภูมินิคมจึงรวมกับมณฑลร้อยเอ็ด เรียกว่า “เมืองเสลภูมิ” และในปี พ.ศ.๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดรูปการปกครองเสียใหม่ โดยตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่พุทธศักราช ๒๔๕๗ ขึ้นจัดรูปการปกครองเป็นจังหวัด อำเภอ เมืองเสลภูมิจึงเป็นอำเภอเสลภูมิ สังกัดจังหวัดร้อยเอ็ดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เดิมเทศบาลตำบลเสลภูมิชื่อเทศบาลตำบลกลาง ซึ่งแต่ก่อนเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาล จัดตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๔ ตารางกิโลเมตร โดยครอบคลุมพื้นที่ของ ๒ ตำบล คือ ตำบลกลาง ตำบลขวัญเมือง และบางส่วนของตำบลนาเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับที่ - เล่ม ๑๑๖ ตอน ๙ ก หน้าที่ - ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ และเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๗ สภาตำบลกลางและสภาตำบลขวัญเมือง ได้ยุบรวมกับเทศบาลตำบลเสลภูมิตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่องการยุบรวมสภาตำบลกับเทศบาลตำบล ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๗ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๑๐๘ ง วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๗ จึงทำให้เทศบาลตำบลเสลภูมิมีพื้นที่ทั้งหมด ๓๓.๑๙ ตร.กม. โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตำบลกลาง ตำบลขวัญเมือง และบางส่วนของหมู่ที่ ๖ ตำบลนาเมือง ต่อมาเทศบาลตำบลกลาง ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลตำบลเสลภูมิตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลกลางเป็นเทศบาลตำบลเสลภูมิ ลงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑
วิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่น
“ท้องถิ่นน่าอยู่ มุ่งสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล มีการพัฒนาที่ยั่งยืน”
พันธกิจ
- 1. จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ การผังเมืองรวมและสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับประชาชน
- 2. ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการศึกษา
- 3. ส่งเสริมการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
- 4. ส่งเสริมสนับสนุนการกีฬาและพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ชุมชนและในภาพรวมของจังหวัด
- 5. ส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
- 6. ส่งเสริมการสร้างงาน การประกอบอาชีพของประชาชน และการพัฒนาฝีมือแรงงาน
- 7. ส่งเสริมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน การพัฒนาและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
- 8. พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีสภาพแวดล้อมที่ดี
- 9. สนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
- 10. ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
- 11. ส่งเสริมให้ประชาชนยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
อนุสาวรีย์พระนิคมบริรักษ์ พ่อเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งอำเภอเสลภูมิ
แท่นศิลา เสลภูมิ แปลว่า พื้นที่ที่มีหินซึ่งเรียกว่าศิลานคร
ศาลาลอย เอกลักษณ์ของสระน้ำกลางเมืองที่มีศาลากลางน้ำเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
น้ำ หมายถึง แหล่งน้ำที่มีอยู่มากมายเต็มไปด้วย กุ้ง หอย ปู ปลา และนกเป็ดน้ำ
ซึ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์
รวงข้าวหอมมะลิ เสลภูมิเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
ดอกทองกวาว (ดอกจาน) เป็นดอกไม้ประจำเทศบาลตำบลเสลภูมิ